This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพุธ, 22 มีนาคม 2566 13:55

การเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยของไทย

        ในยุคเดิม ๆ โดยทั่วไป คนไทยมีชีวิตแบบสบาย ๆ ไม่ค่อยมีรูปแบบมากมายนัก โดยมีความเชื่อเรื่องโชคชะตา เรื่องดวง เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อในโชคลางของขลัง  ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับปัจจุบัน ความเชื่อ จะตรงกับคำว่า Mindset ที่พจนานุกรมแปลอังกฤษเป็นไทย มีความหมายว่า “ความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม” ดังนั้น Mindset เหล่านี้จึงมีความสำคัญกับงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยจากการทำงาน และความสูญสียอื่น ๆ จากการเกิดอุบัติการณ์ ทั้งในสถานประกอบกิจการ หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งในทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

        การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เกิดความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการที่เป็นระบบ เพื่อให้ส่งผลต่อการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยของไทย อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

  การปรับเปลี่ยน Mindset  

        จากงานวิจัยของนักจิตวิทยาที่ชื่อว่า Carol Dweck พบว่า คนที่ประสบความสำเร็จนั้นจะมี Mindset ที่แตกต่างจากคนทั่วไป โดยคนที่ประสบความสำเร็จนั้นจะมี Mindset แบบกรอบแนวคิดแบบเปิดกว้าง (Growth Mindset) เป็นพวกความเชื่อที่ว่า ตนเองสามารถพัฒนาทักษะต่างๆได้อยู่เสมอ ซึ่งแตกต่างจากคนส่วนมากที่จะมี Mindset แบบกรอบความคิดแบบปิดตาย (Fixed Mindset) โดยเชื่อว่าทักษะตนเองมีขีดจำกัด และพัฒนาเพื่อข้ามขีดจำกัดไม่ได้อีกแล้ว

        การมี Mindset แบบไหนก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะพื้นฐานของมนุษย์ต้องการความปลอดภัย ทำให้เราอยู่ที่ที่เราคุ้นเคยและไม่อยากเสี่ยง การพัฒนา Mindset จะต้องเริ่มต้นอย่างเป็นระบบด้วยการมีรูปแบบของค่านิยมความปลอดภัย (Safety Values) ของไทยที่เป็นกรอบแนวทางในการปรับเปลี่ยน Mindset ของความเชื่อใหม่ และจะส่งผลต่อพฤติกรรมใหม่ที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อความปลอดภัยต่อไป

วิสัยทัศน์และค่านิยม : ต้นน้ำของการพัฒนาความปลอดภัย

        วิสัยทัศน์ (Vision) และค่านิยม (Values) เป็นต้นน้ำและมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาองค์การไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน ถ้าประเทศไทยคือองค์การหนึ่ง ดังนั้น ในแง่ของงานด้านความปลอดภัย ประเทศไทยก็ต้องมีวิสัยทัศน์ และค่านิยมความปลอดภัยที่ผู้นำประเทศมีหน้าที่ที่จะต้องถ่ายทอดและเสริมสร้างให้ประชาชนคนไทยนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนคนไทยในทุกสาขาอาชีพมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนมีความปลอดภัย และมีสุขภาพอนามัยที่ดีในการใช้ชีวิตประจำวัน การพักผ่อน และการเดินทาง เป็นต้น

 

ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมี ค่านิยมความปลอดภัยของไทย

        คณะอนุกรรมการวิชาการ ของ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้นำเสนอต้นร่างของค่านิยมความปลอดภัย ซึ่งประกอบไปด้วย สติรู้ตัว (Mindfulness) วินัยถูกต้อง (Discipline) และเอื้ออาทรใส่ใจ (Caring)

        สติรู้ตัว สอดคล้องตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และต่อมามีการประกาศเป็นค่านิยมหลักของคนไทย ซึ่งเป็นค่านิยมหลักที่ 9 ใน 12 ค่านิยมหลัก ตามนโยบายของรัฐบาล สำหรับ วินัยถูกต้อง เป็นการยึดหลักการ การทำงานที่ถูกต้อง ด้วยวิธีการและอุปกรณ์ที่ถูกต้องคือการทำงานที่ปลอดภัย และเอื้ออาทรใส่ใจ คือการปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงาน และผู้ปฏิบัติงานเสมือนคนในครอบครัว มีความเมตตาและดูแลผู้ปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย ดำรงไว้ซึ่งสุขภาพอนามัยที่ดีและมีความสุขในการทำงาน

 

จากค่านิยม สู่การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมความปลอดภัยของไทย

        กระบวนการต่อไป จะได้มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัย จากกระทรวงต่างที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา สถานประกอบกิจการ และผู้เกี่ยวข้อง มาร่วมกันศึกษาเพื่อหาข้อสรุปกันว่า ค่านิยมความปลอดภัยของไทย ควรจะเป็นอะไรบ้าง จะยึดตามที่ สสปท.เสนอต่อไป หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมขึ้นหรือไม่ อย่างไร เพื่อว่า ประเทศไทยจะได้มี ค่านิยมความปลอดภัยของคนไทย ที่ทุกกระทรวง ทุกสถาบัน ทุกสถานประกอบกิจการ พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน สู่การปรับเปลี่ยน Mindset และจะส่งผลต่อพฤติกรรม และเมื่อมีการกระทำหรือพฤติกรรมแบบที่ถูกต้องซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนเป็นเกิดความเคยชิน จะส่งผลต่อการมีวัฒนธรรมความปลอดภัยของไทยที่ดี ซึ่งจะทำให้ระบบความปลอดภัยพัฒนาไปอย่างเป็นขั้นตอน เป็นระบบ ต่อเนื่อง และนำไปสู่การลดความสูญเสียในระดับสถานประกอบการ องค์กร และตลอดจนถึงระดับประเทศไทยต่อไป

บทความโดย

 • พงษ์สิทธิ์ ศิริฤกษ์อุดมพร

 • ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยภูมิภาคตะวันออก (OSHCET) สสปท.

 

 

เข้าชม 2580 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 02 พฤศจิกายน 2566 14:20