This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันศุกร์, 09 ธันวาคม 2565 16:18

ทัศนคติด้านความปลอดภัย

เมื่อพนักงานพูดกับ จป. แบบนี้...

“ผมก็ทำแบบนี้มาตลอด ไม่เคยบาดเจ็บเลย”

“เรื่องความปลอดภัยทำให้การผลิตช้าลง ตอนนี้ต้องรีบทำงานให้เสร็จ”

“โอ๊ย...การบาดเจ็บ การเจ็บป่วย มันเป็นส่วนหนึ่งของงานอยู่แล้ว”

“บริษัทเราไม่สนใจทำเรื่องความปลอดภัยกันจริงๆ จังๆ หรอก”

 

 

        สิ่งที่ได้ยิน ชวนให้สงสัยว่า...ทำไมพนักงานถึงคิดและรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย ผ่าน "ทัศนคติ" ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับตนเองแบบนั้น แทนที่จะเป็นทัศนคติที่ “ป้องกันอุบัติเหตุ” ไม่ให้เกิดขึ้นกับตนเอง

 

        ทัศนคติด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน หมายถึง แนวโน้มของพนักงานที่จะตอบสนองในเชิงบวกหรือในเชิงลบต่อเป้าหมาย ความคิด แผนงาน ขั้นตอน การป้องกัน หรือสถานการณ์ด้านความปลอดภัย

 

        ส่วนผสมของทัศนคติด้านความปลอดภัยของเราแต่ละคน มาจาก อารมณ์หรือความรู้สึก, ความเชื่อหรือความคิดเห็นจากประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว, ความเอนเอียง สำหรับการกระทำที่มักจะเกิดจากความคิดเห็นส่วนตัว และการตอบสนองเชิงบวกหรือเชิงลบต่อสิ่งเร้าที่มากระทบ จนทำให้เกิดเป็นการกระทำ/การแสดงออก

ดังนั้น ทัศนคติด้านความปลอดภัยที่เราเลือก สามารถช่วยให้ตัวเราเองปลอดภัยได้ นั่นก็คือ คิดในสิ่งที่ “ป้องกัน” อุบัติเหตุ หรือ ทัศนคติเชิงบวกด้านความปลอดภัย เช่น

  • อุบัติเหตุมีสาเหตุ เราสามารถช่วยป้องกันได้

  • อุบัติเหตุรบกวนการผลิต งานที่ปลอดภัย คือ งานที่มีประสิทธิภาพ

  • ไม่ว่าบริษัทจะสนใจเรื่องความปลอดภัยจริงๆ หรือไม่ ฉันก็จะทำงานอย่างปลอดภัยเพื่อตัวฉันเองและครอบครัวของฉัน

  • การทำงานอย่างปลอดภัยเป็นสิ่งที่แสดงถึงทักษะความเชี่ยวชาญในการทำงาน

  • เช้านี้ฉันมาทำงานด้วยอวัยวะครบ 32  และเย็นนี้ก็จะกลับบ้านด้วยอวัยวะครบ 32 เช่นกัน

  • บริษัทของเรามีโครงการเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยตลอดทั้งปี ฉันจะทำในส่วนที่ฉันเกี่ยวข้องให้เต็มที่

  • ฉันเข้าใจและปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยของบริษัท

  • ฉันรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมงาน

  • รายงานและแก้ไขอันตรายด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงานด้วยความสมัครใจ

  • ระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

  • เสนอแนวทางการปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยไปยังหัวหน้า

  • หลีกเลี่ยงการทำงานให้เสร็จอย่างเร่งรีบ และคำนึงถึงความปลอดภัยก่อน

  • ใช้งานอุปกรณ์ PPE ที่จำเป็นอย่างครบถ้วน

  • ขอความช่วยเหลือ เมื่อจำเป็น อย่าพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อความช่วยเหลือจะทำให้งานปลอดภัยยิ่งขึ้น

  • ทำงานร่วมกับทีมเพื่อแก้ไขปัญหาอันตรายและข้อกังวลด้านความปลอดภัย

  • ให้ความสนใจกับสัญญาณเตือนอันตรายต่างๆ และการบอกเตือนกันของเพื่อนร่วมงาน

  • กระตุ้นให้เพื่อนร่วมงานปฏิบัติงานตามขั้นตอนด้านความปลอดภัย

  • เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนพนักงานคนอื่นๆ

เป็นต้น

 

         ทัศนคติเชิงบวกด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปราศจากอุบัติเหตุ ส่งผลต่อการทำงานและความปลอดภัยของตัวเราเอง และส่งผลต่อองค์กร เช่น ประสิทธิภาพของงานที่สูงขึ้น, คุณภาพอยู่ในระดับที่ดี, ประหยัดงบประมาณจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุบัติเหตุ, เพิ่มขวัญกำลังใจแก่พนักงาน, เกิดผลกำไรทางธุรกิจและส่งผลดีต่อธุรกิจ เป็นต้น

 

ทัศนคติปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องใช้เวลา ซึ่งการสร้างทัศนคติเชิงบวกทำได้โดยใช้ 8 ตัวขับเคลื่อนภายในองค์กร ดังนี้

  (1) การสื่อสาร  

        พนักงานต้องการรับทราบข้อมูล และทำความเข้าใจว่าองค์กรคาดหวังอะไรจากพวกเขา และงานของพวกเขาสอดคล้องกับภาพรวม ภาพใหญ่ขององค์กรอย่างไร เมื่อพวกเขาพอใจกับการสื่อสารภายในบริษัท พวกเขาจะมีส่วนร่วมมากขึ้นและมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อความปลอดภัย

  (2) ผู้บริหารระดับสูง  

        เมื่อผู้นำของบริษัทแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นในด้านความปลอดภัย พนักงานจะสังเกตเห็นและมั่นใจในความเป็นผู้นำมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านความปลอดภัยที่น้อยลง

  (3) การทำงานเป็นทีม  

        ความร่วมมือทำให้เกิดความปลอดภัย และการทำงานเป็นทีม ให้การตรวจสอบและการสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามขั้นตอนด้านความปลอดภัย

  (4) ปริมาณงาน  

         ต้องเหมาะสม ยิ่งพนักงานมีภาระงานมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อทัศนคติและประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยของพวกเขามากเท่านั้น

  (5) กำกับดูแล  

        ความรู้สึกที่พนักงานมีต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความกระตือรือร้นโดยทั่วไปในงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยอีกด้วย

  (6) การมีส่วนร่วม  

        การส่งเสริมให้พนักงานเป็นเจ้าของงานและช่วยแก้ปัญหา จะเพิ่มแรงจูงใจและการมีส่วนร่วม โดยลดโอกาสที่เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย

  (7) ผลกระทบส่วนบุคคล  

        เมื่อพนักงานเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างงานแต่ละงานกับกลยุทธ์โดยรวมของบริษัทอย่างชัดเจน พวกเขารู้สึกว่ามีอำนาจมากขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของทีม ซึ่งนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการทำงานที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

  (8) ความเคารพและความเป็นอยู่ที่ดี  

        เมื่อบริษัทเน้นถึงความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน พนักงานมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นอันดับแรก

 

ทัศนคติที่ตัวเราเลือก สามารถช่วยชีวิตตัวเราได้

 

ด้วยรักและห่วงใย

จากใจผู้เขียน...โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา

ตำแหน่ง : วิทยากรและที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยฯ & โค้ช & นักเขียน

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก :

  • เอกสารไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ safety matters April 2021
  • เอกสารไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ 4 Safety Attitude Tool Box Talk
  • เอกสารไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ Safety Attitude Safety Talk
  • เอกสารไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ 02-24 Safety Attitude
  • https://www.safeopedia.com/definition/721/workplace-safety-attitude/ [เข้าถึงเมื่อ 7 มิถุนายน 2565]
  • https://www.willnevergiveup.com/safety-and-attitude/ [เข้าถึงเมื่อ 7 มิถุนายน 2565]

 

เข้าชม 11505 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 02 พฤศจิกายน 2566 14:20