This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 25 กรกฎาคม 2565 10:34

ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานให้องค์กร ผ่านพีระมิด 4 ขั้น

         เสริมองค์กรให้ก้าวไกลด้านความปลอดภัยในการทำงาน  ผ่าน 4 ขั้น พีระมิดส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน ด้วยการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ (เติมเต็มคุณค่าจากภายใน เริ่มต้นความปลอดภัยจากตัวเราเอง)

 

           จากแผนภาพข้างต้น  เมื่อองค์กรมีความชัดเจนในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดีในแบบที่ต้องการให้เกิดขึ้นแล้ว ก็จะทราบถึงภารกิจที่ต้องทำ สามารถเลือกกลยุทธ์/วิธีการที่ใช้สำหรับทำให้ถึงผลลัพธ์ที่ต้องการได้ นอกจากนี้ การดำเนินการที่จะตามมาจะมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมในรูปแบบของกิจกรรม,โครงการต่างๆ ที่ต้องดำเนินการด้วยความต่อเนื่อง  เพื่อให้มีผลที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนในองค์กรมีสุขภาพ ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

  พีระมิดขั้นที่ 1  

ค้นหาความต้องการและค้นพบคุณค่าในตนเอง

         สร้างแรงจูงใจโดยการให้ทุกคนเห็นคุณค่าในตนเองและมีส่วนร่วมในการช่วยกันทำให้เกิดความปลอดภัย (มีจิตสำนึกและทัศนคติที่ถูกต้องเพื่อการปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดี)  สำรวจปัญหาและความต้องการเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านความปลอดภัยฯ อย่างมีทิศทาง มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีขั้นตอนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมสามารถนำไปปฏิบัติได้และมีรูปแบบแผนกิจกรรมที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

องค์กรต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจความต้องการพื้นฐานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานเหล่านั้น ดังนี้

       เมื่อองค์กรเข้าใจถึงความต้องการพื้นฐาน สิ่งที่องค์กรต้องดำเนินการต่อ คือ ทำให้พนักงานทุกคนในองค์กรได้รับปัจจัยที่เอื้อต่อความต้องการในชีวิตอย่างเหมาะสม (เงิน,เวลาและการพัฒนาตนเอง) เพื่อเป็นฐานส่งต่อให้พนักงานได้แสดงศักภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ผ่านการทำงานในองค์กรจนเกิดความรักและการเห็นคุณค่าในตนเอง และเกิดความตระหนักในการดูแลตนเองให้มีความปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดี ดังนั้น องค์กรจึงต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานเพื่อรองรับการเข้ามาทำงานของบุคลากรและพนักงานในการเข้ามาเป็นกำลังในการขับเคลื่อนองค์กรต่อไป

         สำหรับในส่วนของพนักงานแต่ละคน ต้องมีเวลาให้กับตนเองเพื่อจะได้ตรวจสอบความต้องการ ตรวจสอบเป้าหมายในชีวิตของตน ซึ่งเบื้องต้นทุกคนสามารถถามคำถามที่ทรงพลังกับตนเองได้ ดังนี้

1 . ตัวเราอยู่จุดไหน  ถามคำถามที่ดีให้กับตนเอง 

  • เรามีดีอะไร (ความสามารถ,ทักษะ,พรสวรรค์,ประสบการณ์)

  • เราเคยทำอะไรสำเร็จมาแล้วบ้างและแต่ละสิ่งที่ทำสำเร็จ สำเร็จได้อย่างไร

2.  ตัวเราจะเป็นอย่างไร ถามคำถามเพื่ออนาคตของตนเอง

  • เราอยากเห็นอะไร (เกี่ยวกับตัวเรา,องค์กร,ชุมชน)

  • เรามีปัจจัยอะไรส่งเสริมบ้าง (งานที่ทำ,สังคมเราที่อยู่,สิ่อต่างๆที่เราเลือกเสพ)

          เมื่อแต่ละคนเข้าใจตนเองอย่างชัดเจนและเลือกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่สามารถสนับสนุนให้แต่ละบุคคลได้แสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ (คนเหมาะสมกับองค์กรโดยมีเป้าหมายและทิศทางของการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายและวัฒนธรรมขององค์กร) และสามารถต้องสนองต่อความต้องการพื้นฐานให้กับพนักงานในองค์กรได้ ก็จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันและนำไปสู่เรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดี

 

  พีระมิดขั้นที่ 2  

สร้างปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายองค์กร

       เป้าหมายขององค์กร คือ การมีผลกำไรสูงสุด แต่ก็ไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับบุคลากรที่เป็นกลไกในการช่วยสร้างผลกำไร เพราะฉะนั้น องค์กรต้องมีกลไกที่เป็นระบบในการตอบสนองความต้องการของบุคลากรในองค์กร เช่น  มีสวัสดิการที่ดี, มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี, มีความปลอดภัยในการทำงาน สถิติอุบัติเหตุในองค์กรเป็นศูนย์ รวมถึงมีการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น

       เมื่อองค์กรมีการวางแผนและบริหารจัดการในส่วนของปัจจัยพื้นฐานแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญซึ่งขาดไม่ได้ คือ เรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ชัดเจน (กำหนดโครงสร้าง,บทบาทหน้าที่,ขั้นตอน,วิธีการทำงาน,กำหนดผู้รับผิดชอบแบ่งเป็นระดับขั้น,มาตรฐานของระบบไม่ต่ำกว่าข้อปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด) มีความร่วมมือจากพนักงานทุกคนในองค์กร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ภาพเป้าหมายเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดีในแบบที่องค์กรต้องการ เมื่อพนักงานเกิดความสุขกาย สุขใจ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ภายใต้การทำงานที่ปลอดภัยก็จะเป็นการสร้างผลกำไรที่คุ้มค่าคืนกลับสู่องค์กร

  • สำรวจ ตรวจวัด วิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยง ชี้บ่งอันตราย และควบคุมความเสี่ยง

  • มีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม

  • เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานที่ทำงานมีความปลอดภัยและไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของพนักงาน

  • พนักงานมีทักษะความรู้ ความชำนาญเหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย

  • มีการรวมกลุ่มของผู้ที่นำตนเองที่มีความปลอดภัยในการทำงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบเครือข่ายขยายไปทุกๆส่วนงานภายในองค์กร

 

  พีระมิดขั้นที่ 3  

ลงทุนในระดับบุคคลเพื่อพัฒนาคนในการร่วมพัฒนาองค์กรในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

          ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเป็นผู้นำต้นแบบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ลงทุนด้านการพัฒนาคนและพัฒนาองค์กรผ่านระบบการจัดการความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่เหมาะสมกับองค์กร โดยมีระบบการจัดการที่ไม่ต่ำกว่าที่มาตรฐานกฎหมายกำหนด

      องค์กรต้องทำการส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กรมีคุณสมบัติเฉพาะบุคคลที่ดีและมีเป้าหมายที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมพัฒนาองค์กรในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดังตาราง  โดยสร้างความสัมพันธ์ทั้ง 3 ส่วน  (องค์กร,หัวหน้าและบุคคล) เพื่อนำไปสู่ภาพเป้าหมายเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดีในแบบที่องค์กรต้องการ

  พีระมิดขั้นที่ 4  

พิชิตเป้าหมาย (ทุกคนในองค์กรมีสุขภาพ ความปลอดภัย คุณภาพชีวิตที่ดี)

               เมื่อองค์กรสร้างฐานพีระมิดตั้งแต่ขั้นที่ 1-3 ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการในช่วงท้าย คือ การสร้างร่วมมือจากทุกคนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการดำเนินการเพื่อให้ภาพเป้าหมายเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดีในแบบที่องค์กรต้องการเป็นจริงและยั่งยืน  ด้วยการทำวงจร 4D วงจรแห่งการร่วมคิดและทำ (Devid Cooperider,1985)

  • D1 : Discovery

    (ร่วมค้นพบสิ่งดีแล้วชื่นชม) : เน้นการสร้างคน ผ่านการสร้าง Hero ต้นแบบในองค์กร (ผู้นำและฝ่ายบริหารเป็นต้นแบบด้สนความปลอดภัยฯ) สร้างภาพการจดจำที่ดีด้านความปลอดภัยในการทำงานเพื่อเป็นภาพกระจกเงาให้สมองของกันและกันให้กับทุกคนในองค์กร มีการชื่นชมสิ่งดีและร่วมกันสอดส่องดูแลสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข

  • D2 : Dream

    (ร่วมสร้างฝัน สร้างเป้าหมาย) : บุคลากรและองค์กรมีการสร้างเป้าหมายร่วมกัน ในการพัฒนาคนและองค์กรเพื่อให้เติบโต ก้าวหน้าในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และคุณชีวิตที่ดีในตามแบบที่องค์กรกำหนดไว้

  • D3 : Design

    (ร่วมออกแบบการทำงานที่เหมาะสมในสภาพแวดล้อมเชิงบวก) : สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กรกล้าแสดงความคิดเห็นและให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพของตนเอง ทุกคนในองค์กรรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง สามารถปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ, สร้างผลงานที่ดีมีคุณภาพ, ส่วมใส่ PPEเพื่อแสดงออกถึงความห่วงใย ใส่ใจตนเองและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยเคารพพื้นที่ส่วนรวม, ใช้อุปกรณ์ส่วนรวมอย่างระมัดระวัง และช่วยสอดส่องดูแลความเสี่ยงต่างๆ เช่น พื้นที่, สภาพแวดล้อม, อุปกรณ์ เครื่องมือ, เครื่องใช้, ลักษณะการทำงาน เป็นต้น ทั้งในพื้นที่ปฏิบัติงานของตนเองและภายในส่วนต่างๆ ขององค์กร

  • D4 : Destiny

    (ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อสังคม) : ทุกคนร่วมทำสิ่งต่างๆ เพื่อนำไปสู่เรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดีในแบบที่องค์กรต้องการ พร้อมทั้งยังสามารถสื่อสารความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีไปยังคนอื่นๆ (ครอบครัว,ชุมชน) รอบตัวได้ ผ่านการกระทำที่เป็นแบบอย่างที่ดีด้านความปลอดภัยในการทำงานและความปลอดภัยในกิจกรรมต่างๆ ของการใช้ชีวิต

องค์กรไม่มีชีวิตแต่ขับเคลื่อนด้วยชีวิตของทุกคนในองค์กร อยากให้องค์กรมีความยั่งยืน ต้องใส่ใจทุกจุดเล็กๆ ในใจของทุกคน เมื่อแต่ละคนเติมเต็มคุณค่าจากภายใน ก็จะเป็นผู้เริ่มเรื่องความความปลอดภัยได้ด้วยตัวเอง

 

ผู้เขียน

คุณสุชาดา อวยจินดา (โค้ชออนซ์)

 

เข้าชม 13114 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 02 พฤศจิกายน 2566 14:21