This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพุธ, 13 มกราคม 2559 03:03

อุบัติเหตุเครนยกชิ้นส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถล่ม

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 เกิดเหตุอุปกรณ์ติดตั้งชิ้นส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (Beam launcher) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บรวม 12 ราย เป็นชาวบ้าน 2 คน และเป็นลูกจ้าง 10 คน (ชาวไทย 3 ราย กัมพูชา 5 ราย พม่า 4 ราย)

เบื้องต้นทราบว่าเหตุเกิดขณะที่ใช้ Beam launcher ยกชิ้นส่วนสะพาน (Segment) ขนาดความกว้าง 2.5 เมตร ยาว 9 เมตร จำนวน 9 ชิ้น เพื่อวางบนรางเหล็กเลื่อนคาน เพื่อเลื่อนประกอบชิ้นส่วนสะพาน (Segment) ไปเชื่อมต่อกับเสาตอหม้อ ซึ่งมีระยะทางรวม 36 เมตร ขณะที่เคลื่อนชิ้นส่วนสะพานไปถึงคอสะพาน ปรากฏว่าชิ้นส่วนสะพานตัวที่วางบนตอหม้อสะพานเกิดเอียง และคานเหล็กรับน้ำหนักไม่ไหว ได้ทรุดตรงลงทำให้รางอุปกรณ์ติดตั้งคาน (Beam launcher) เอียงลงไปแล้วดึงชิ้นส่วนสะพานที่เรียงอยู่บนรางเหล็กอีก 8 ตัวล้มลงไปทับบ้าน และดึงตัวเครนล้มลงมาด้วย ทำให้ลูกจ้างส่วนใหญ่ทำหน้าที่ดึงลวดสลิงตกลงไปได้รับบาดเจ็บ 

สำหรับสะพานดังกล่าวเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวทั้งหมด 380 เมตร เป็นสะพาน 4 ช่องการจราจร ในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแนวถนนสาย ก ผังเมืองรวม เมืองพระนครศรีอยุธยา ตอนที่สอง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการก่อสร้าง ถนนวงแหวนรอบใน ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเชื่อมระหว่างถนนสายเอเชีย สาย 32 ไปสู่ถนนทางหลวงสาย 347 และ 3469 โดยมีงบประมาณ 600 ล้านบาท เริ่มสร้าง 1 ก.ค.2556 โดยบริษัท ประยูรวิศว์ โดยมูลค่าก่อสร้างสะพาน 382 ล้านบาท

 

ด้านวิศวกรรมการก่อสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องแบบหล่อสำเร็จชนิดดึงลวดภายนอก 

การก่อสร้างสะพานดังกล่าวใช้วิธีการก่อสร้างสะพานอัดแรงรูปกล่องแบบชิ้นส่วนสำเร็จ โดยอาศัยโครงเหล็ก (Launching truss) วางคร่อมช่วงคาน (Span) ระหว่างเสาตอม่อ แล้วทำการลำเลียงชิ้นส่วนสะพานให้อยู่ในตำแหน่งช่วงคานที่ต้องการ จากนั้นทำการดึงลวดอัดแรงพร้อมกันทั้งช่วงคาน หลังจากนั้นก็จะเคลื่อนโครงเหล็กไปข้างหน้าด้วยแม่แรง (Hydraulic jacks) และทำการสร้างช่วงคานถัดไป บางครั้งจึงเรียกวิธีดังกล่าวว่า Span-by-span method ซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างที่นิยมใช้ในการก่อสร้างทางด่วน รถไฟฟ้าbts

 

มาตรการด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างสะพาน

จากข้อมูลเบื้องต้น มีประเด็นที่ควรสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้อุปกรณ์ติดตั้งคาน (Beam launcher) และชิ้นส่วนสะพาน (Segment) เสียความสมดุล เช่น มาตรการหรือขั้นตอนในการควบคุมและติดตั้งคาน ว่ามีการปฏิบัติตามขั้นตอนหรือไม่ และประเด็นเกี่ยวกับมาตรการในการตรวจสอบอุปกรณ์ติดตั้งคาน ระบบ Hydraulic jacks เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาและหามาตรการป้องกันหรือควบคุมไม่ให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวอีก

สำหรับมาตรการป้องกันในระยะแรก นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด ส่วนมาตรการในระยะยาวภาครัฐควรมีการศึกษาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่นำเทคโนโลยีการก่อสร้างและเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนเพื่อการควบคุมป้องกันอุบัติเหตุในลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายดังกล่าว รวมทั้งให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายในการก่อสร้างต่อไป

 

http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2011/02/X10229198/X10229198.html

http://hilight.kapook.com/view/131193

เข้าชม 6241 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันอังคาร, 10 มกราคม 2560 11:28