This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 07 ตุลาคม 2562 09:02

วัฒนธรรมความปลอดภัยแรงงานไทยสร้างสรรค์ได้

          อุบัติเหตุจากการทำงานที่ลดลงในปัจจุบันนั้นเกิดจาก เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายในการทำงานที่มีความก้าวหน้า และทันสมัยมากขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง และสาเหตุที่ทำให้วัฒนธรรมความปลอดภัยเกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจาก
3 ปัจจัย ดังนี้

  1. เศรษฐกิจ รายได้ของลูกจ้าง

  2. นายจ้างมุ่งหวังเพียงแต่ผลกำไร 

  3. นายจ้างและลูกจ้างขาดความร่วมมือกัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานไม่เข้มแข็งพอที่จะสนับสนุนงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

       การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยนั้น ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ต้องมีการรณรงค์ตั้งแต่ระดับนายจ้างนำไปสู่ลูกจ้าง จัดให้มีทั้งการอบรมให้ความรู้และฝึกปฏิบัติควบคู่กันไปอย่างซ้ำๆ จนเกิดความเคยชินและเป็นการปลูกจิตสำนึกการทำงานอย่างปลอดภัยให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ลูกจ้าง ลดการบังคับและเพิ่มความเข้าใจให้แก่ลูกจ้างมากขึ้น และเมื่อลูกจ้างปฏิบัติให้ติดตาม ส่งเสริม และให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้การทำงานให้ปลอดภัยและลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงานได้ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา มีการเรียนรู้อย่างจริงจัง และมีกระบวนการนำไปใช้ให้เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยภายในองค์กรอย่างยั่งยืน

       ปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าอุบัติเหตุจากการทำงานมีแนวโน้มที่ลดลงจากแต่ก่อน แต่ยังพบว่าอุบัติเหตุจากการทำงานยังคงเกิดขึ้นกับลูกจ้างอยู่ตลอดเวลา จากสถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานแสดงให้เห็นว่าในแต่ละปีมีลูกจ้างเสียชีวิตจากการทำงานมากกว่า 600 คน โดยเสียชีวิตจากยานพาหนะและงานก่อสร้างมากที่สุด และทุพพลภาพกว่า 60 คน ซึ่งเป็นจำนวนการสูญเสียที่ค่อนข้างสูงมาก จึงทำให้เกิดคำถามว่า ‘อะไรเป็นสาเหตุที่ยังคงทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานขึ้น’ โดยคำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ คือ เกิดจากความเคยชิน ความไม่ตระหนักถึงอันตรายเนื่องจากไม่เคยประสบเหตุกับตนเอง และอาจเกิดจากการที่ไม่มีมาตรการคุ้มครองลูกจ้างอย่างเข้มแข็ง สำหรับสถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานที่เกิดขึ้นลดลงนั้นอาจเกิดจากการพัฒนาของเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ป้องกันอันตรายในการทำงานที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงานของตัวลูกจ้างเอง นอกจากนี้ที่สถิติการประสบอันตรายลดลงนั้น อาจเป็นผลพวงจากสถานประกอบกิจการให้ความสำคัญในการรณรงค์เรื่อง Vision Zero และ Zero Accident ซึ่งทำให้มีการเฝ้าระวังและให้ความสำคัญในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น

       การส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยขึ้นในสถานประกอบกิจการนั้น มีปัจจัยกำหนดหลายประการ เช่น สภาพเศรษฐกิจ รายได้ของลูกจ้างที่เพียงพอต่อชีวิตประจำวัน ระยะเวลาการทำงาน การทำงานล่วงเวลา สุขภาพร่างกายของลูกจ้าง และผลกำไรประกอบกิจการ เป็นต้น รวมทั้งนายจ้างที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และความร่วมมือกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยด้วยเช่นกัน นอกจากปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดแล้ว วิธีการที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยนั้นก็มีอยู่หลากหลายวิธี ตัวอย่างเช่น ‘การให้ความรักก่อนความรู้’ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับนายจ้างที่ต้องส่งมอบความรักความห่วงใยในการทำงานอย่างปลอดภัยให้กับลูกจ้าง นายจ้างเป็นแบบอย่างที่ดี ลดการบังคับเพิ่มความเข้าใจ ติดตามส่งเสริมให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ และส่งเสริมให้ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการมีจิตสำนึกในการทำงานอย่างปลอดภัย โดยจัดให้มีการอบรมและการฝึกปฏิบัติจริงควบคู่กันไป และปฏิบัติซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดความเคยชิน และควรปฏิบัติตั้งแต่ระดับนายจ้างถึงลูกจ้าง รวมทั้งลูกจ้างใหม่ที่เพิ่งเข้าทำงาน นอกจากนี้ การทำงานให้ปลอดภัยและลดอุบัติเหตุในการทำงาน อาจใช้ 5 หลักการดังนี้

  1. ไม่รีบร้อน

  2. ไม่หงุดหงิด

  3. ไม่อ่อนเพลีย

  4. ไม่ละสายตา

  5. ไม่ขาดสติ

ซึ่งสถานประกอบกิจการสามารถวิธีการต่าง ๆ ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ยั่งยืนต่อไป

 

ข้อมูลจาก

การสัมมนาวิชาการ งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 32

  1. นายพนัส ไทยล้วน (ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย)

  2. นายบรรจง บุญรัตน์ (ประธานสภาองค์การลูกจ้างศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย) 
                     
  3. นายมนัส โกศล (ประธานองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย)

  4. นายณรงค์ บุญเจริญ (กรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง สภาที่ปรึกษาเพื่อพัมนาแรงงานแห่งชาติ)  
เข้าชม 19143 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 07 ตุลาคม 2562 10:26