This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันอังคาร, 20 พฤษภาคม 2568 21:39

ความปลอดภัยในการทำงานขุดดินและเทคนิคการป้องกันการพังทลายของดิน

  1.Prepare  

เตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน

การเตรียมตัวอย่างถูกต้องคือหัวใจของความปลอดภัยในงานขุดดิน ก่อนลงมือปฏิบัติงานต้องดำเนินการดังนี้ :

  • สำรวจพื้นที่หน้างาน สังเกตอันตรายจากน้ำและสภาพบรรยากาศ ตรวจสอบโครงสร้างพื้นดิน ลักษณะดิน ระดับน้ำใต้ดิน และสิ่งกีดขวาง เช่น สายไฟ ท่อประปา

  • วางแผนการขุดอย่างปลอดภัย กำหนดความลึก วิธีการขุด เครื่องจักรที่ใช้ และระบบป้องกันการพังทลายของดิน (Sloping : ทำผนังลาดเอียง /Shoring : ใช้ค้ำยันผนัง /Shielding : ทำกำแพงกันดิน)

  • ติดตั้งระบบแจ้งเตือนและควบคุมพื้นที่ใช้ป้ายเตือน รั้ว หรือแผงกั้น เพื่อป้องกันบุคคลภายนอกเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง

  • เตรียมอุปกรณ์ PPE และอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น หมวกนิรภัย ถุงมือนิรภัย เสื้อสะท้อนแสง ในกรณีงานอับอากาศ ต้องมีการอนุญาตการทำงาน และอุปกรณ์ที่เหมาะสม เช่น อุปกรณ์ช่วยหายใจ

  • ฝึกอบรมคนงานให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากงานขุดดิน วิธีใช้อุปกรณ์ และแผนฉุกเฉิน

 

 

  2.Process  

ขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัย

เมื่อเริ่มงาน ต้องยึดถือขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย โดยมีข้อปฏิบัติหลัก ดังนี้:

  • ควบคุมความเสี่ยงจากการพังทลายของดิน
    ใช้ระบบป้องกันที่เหมาะสมกับประเภทของดิน เช่น sloping หรือ trench box

  • กำหนดทางเข้า-ออกที่ปลอดภัยจากพื้นที่ขุด
    จัดทางขึ้น-ลง (ladder/steps) ทุกระยะไม่เกิน 25 ฟุตตามข้อกำหนด OSHA

  • อย่าเข้า หลุม บ่อ คูน้ำ จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบ

  • ผู้ปฏิบัติงานจะต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับการทำงานในที่อับอากาศ และจะต้องมีผู้ช่วยเหลือ อยู่ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน

  • ผู้ปฏิบัติงานจะต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย (PPE) ที่เหมาะสมกับลักษณะงาน

  • สังเกตอาการผิดปกติของดินและอุปกรณ์ตลอดเวลา
    เช่น ดินแตกร้าว เสียงร้าว เครื่องจักรขัดข้อง ต้องหยุดงานทันทีเพื่อประเมินความเสี่ยง

  • กองวัสดุต้องนำออกนอกขอบหลุม บ่อ คูน้ำ

  • ควบคุมการสื่อสารและการทำงานของเครื่องจักร
    ใช้สัญญาณมือหรือตัวช่วยอื่นในการสื่อสารในพื้นที่เสียงดังหรือแคบ

 

  3.Postwork  

ขั้นตอนหลังปฏิบัติงานเสร็จสิ้น

หลังงานขุดดินจบลง ยังมีภารกิจสำคัญเพื่อรักษาความปลอดภัยของพื้นที่ ดังนี้:

  • ตรวจสอบความเรียบร้อยของพื้นที่
    ตรวจดูว่ามีการพังทลาย วัตถุอันตราย หรือพื้นที่อันตรายที่ยังไม่ได้จัดการหรือไม่

  • เก็บอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบ
    ทำความสะอาดอุปกรณ์ นำไปเก็บในที่ปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุจากการทิ้งอุปกรณ์ไว้หน้างาน

  • ถมดินกลับและคืนสภาพพื้นที่ (หากจำเป็น)
    ใช้วิธีถมและบดอัดดินที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการทรุดตัวในอนาคต

  • จัดทำบันทึกหรือรายงานผลการปฏิบัติงาน
    รายงานปัญหา เหตุการณ์ผิดปกติ และข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยในการทำงานครั้งถัดไป

  • ติดตามอาการหรือปัญหาสุขภาพของพนักงาน (ถ้ามี)
    เช่น ความเมื่อยล้า ความร้อน ฝุ่น หรืออาการจากพื้นที่อับอากาศ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1. กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๔ (หมวด 2 - งานเจาะและงานขุด)

ข้อ ๓๒ การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู ที่ลึกตั้งแต่ ๒ เมตรขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีการคำนวณ ออกแบบ และกำหนดขั้นตอนการดำเนินการโดยวิศวกรก่อนลงมือปฏิบัติงาน และนายจ้างต้องปฏิบัติตามแบบและขั้นตอนที่วิศวกรกำหนด รวมทั้งต้องติดตั้งสิ่งป้องกันดินพังทลาย

ข้อ ๓๔ ในกรณีให้ลูกจ้างลงไปทำงานในรูเจาะ รูขุด หลุม บ่อ คู ซึ่งมีความลึกตั้งแต่ ๒ เมตร ขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มี

(๑) ทางขึ้นลงที่สะดวกและปลอดภัย

(๒) เครื่องสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพ

(๓) ระบบการถ่ายเทอากาศและแสงสว่างที่เพียงพอและเหมาะสม

(๔) ผู้ควบคุมงานที่มีประสบการณ์ด้านงานดิน และผ่านการอบรมการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ประจำบริเวณปากรูเจาะ รูขุด หลุม บ่อ คู

(๕) อุปกรณ์เพื่อการสื่อสารหรือรับส่งสัญญาณซึ่งเป็นที่เข้าใจระหว่างลูกจ้างที่ต้องลงไปทำงานกับผู้ช่วยเหลือ ตาม (๔) กรณีฉุกเฉิน

(๖) สายหรือเชือกช่วยชีวิต และเข็มขัดนิรภัยพร้อมอุปกรณ์ที่สามารถเกาะเกี่ยวได้เพื่อช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน

ข้อ ๓๕ ในบริเวณที่มีการเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู ให้นายจ้างจัดให้มีปลอกเหล็ก แผ่นเหล็ก ค้ำยัน หรืออุปกรณ์อื่นเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากดินพังทลาย และต้องจัดให้มีวิศวกรตรวจสอบความมั่นคงเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ข้อ ๓๖ ในกรณีที่ใช้ปั้นจั่นหรือเครื่องจักรหนักปฏิบัติงาน หรือมีกองวัสดุหรืออุปกรณ์หนักอยู่บริเวณใกล้ปากรูเจาะ รูขุด หลุม บ่อ คู นายจ้างต้องจัดให้มีการป้องกันดินพังทลายโดยติดตั้งเสาเข็มพืด (sheet pile) หรือโดยวิธีอื่น

ข้อ ๓๘ ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างลงไปทำงานในรูเจาะ รูขุด หลุม บ่อ คู ที่มีขนาดกว้างน้อยกว่า ๗๕ เซนติเมตร และมีความลึกตั้งแต่ ๒ เมตร ขึ้นไป

ข้อ ๙๘ ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานในบริเวณที่อาจมีการพังทลาย หรือการกระเด็นหรือตกหล่น ของหิน ดิน ทราย หรือวัสดุต่าง ๆ นายจ้างต้องจัดทำไหล่หิน ดิน ทราย หรือวัสดุนั้นให้ลาดเอียงเป็นมุมหรือวิธีการอื่นที่ที่ป้องกันการพังทลาย

ข้อ ๙๙ ในกรณีที่ให้ลูกจ้างทำงานในท่อ ช่อง โพรง อุโมงค์ หรือบ่อที่อาจมีการพังทลาย นายจ้างต้องจัดทำผนังกั้น ค้ำยัน หรือใช้วิธีการอื่นใดที่สามารถป้องกันอันตรายนั้นได้

 

2.  กฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐
กำหนดประเภทและขนาดสำหรับงานก่อสร้าง “โครงสร้างใต้ดิน สิ่งก่อสร้างชั่วคราว กำแพงกันดิน คันดินป้องกันน้ำ หรือคลองส่งน้ำที่มีความสูง หรือความลึกตั้งแต่ ๑.๕๐ เมตรขึ้นไป” ต้องดำเนินการโดยวิศวกรควบคุมเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

  • Occupational Safety and Health Administration. (2021). Excavations: OSHA safety and health topics. U.S. Department of Labor. https://www.osha.gov/excavations
  • Occupational Safety and Health Administration. (2022). 29 CFR Part 1926 – Subpart P: Excavations. U.S. Department of Labor.
  • Occupational Safety and Health Administration. (2020). OSHA technical manual (OTM): Section V, Chapter 2 – Excavations. U.S. Department of Labor. https://www.osha.gov/otm/section-v-chapter-2
  • กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน. (2563). คู่มือความปลอดภัยในการทำงานในสถานที่อับอากาศ และงานขุดดิน. กระทรวงแรงงาน.
  • สถาบันความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน). (2565). แนวทางการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการทำงานงานขุดเจาะและร่องลึก. สถาบัน T-OSH.
  • ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานภาคที่ (2561). ความปลอดภัยในการทำงานขุดเจาะ. สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน.
  • National Institute for Occupational Safety and Health. (2018). Preventing trenching-related injuries and deaths (NIOSH Publication No. 2018-119). Centers for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/niosh/docs/2018-119/

 

เข้าดู 189 ครั้ง Last modified on วันอังคาร, 20 พฤษภาคม 2568 21:41

บทความที่ได้รับความนิยม