This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันศุกร์, 21 เมษายน 2566 14:17

วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 รั่วไหล

           จากเหตุการณ์วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Caesium-137) สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 304 จังหวัดปราจีนบุรี และต่อมาพบว่าซีเซียม-137 ถูกนำไปหลอมถลุงและตรวจพบ กัมมันตภาพรังสีในฝุ่นแดงของโรงงานถลุงเหล็ก ทำให้ประชาชนหวั่นวิตกถึงอันตรายที่อาจจะได้รับจากการแพร่กระจายของซีเซียม-137

  ซีเซียม-137 คืออะไร  

          ข้อมูลจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า ซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิต 30.08 ปี มีลักษณะเป็นของแข็งคล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายได้เมื่อแตกออกจากแคปซูลที่ห่อหุ้มไว้ โดยมีกลไกการสลายตัวแบบเบตา และแกมมาก่อนกลายสภาพไปเป็นธาตุแบเรียม-137 (Ba-137)

          ด้านอุตสาหกรรม ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นอุปกรณ์วัดระดับ (Level Gauge) ในสถานประกอบกิจการ  เช่น เครื่องวัดความชื้น เครื่องวัดความหนาแน่น เครื่องวัดระดับการไหลของเหลวในท่อ เครื่องวัดความหนา และเครื่องตรวจสอบชั้นบาดาล การวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน เป็นต้น

          ด้านการถนอมอาหารและการแพทย์ สามารถใช้ประโยชน์ในการฉายรังสีอาหาร ใช้ในด้านรังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เป็นต้น

*โรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำใช้ซีเซียม-137 เป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโล

  ซีเซียม-137 มีอันตรายหรือไม่  

          การได้รับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากซีเซียม-137 เป็น ระยะเวลาสั้น ๆ จะไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายที่เห็นผลชัดเจนในทันที  แต่หากภายใน 7 วัน ผู้ที่ได้รับปริมาณรังสี มีอาการ ไข้ขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเหลวมากกว่า 2 ครั้ง หนาวสั่น ผิวหนังพุพอง มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่ง หรือมีอาการชักเกร็ง ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยด่วน

          ในกรณีที่ได้รับปริมาณรังสีต่อเนื่องเป็นปี อาจทำให้มีอาการผิวหนังแสบร้อน มีผื่นแดงคล้ายน้ำร้อนลวกหรือโดนไฟไหม้ เกิดพังผืดที่ปอด เกิดต้อกระจก ชักเกร็ง และเสียชีวิต

          อีกทั้งเซลล์ในร่างกายอาจกลายพันธุ์เป็นเซลล์ที่ผิดปกติ และจะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมหรือพันธุกรรม  นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง ในช่วง 5 -10 ปี

  การป้องกันซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย  

         ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกัมมันตรังสี หรือกล่องเหล็กต้องสงสัย  ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่เสี่ยง ควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ ลดการปนเปื้อน โดยอาบน้ำ สระผม ล้างตาโดยให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปหางตา เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที รวบรวมสิ่งของ หรือเสื้อผ้าที่คาดว่าอาจมีการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี ส่งให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและกำจัดต่อไป

แนวทางการแก้ไขและป้องกันเพื่อความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการ

     • หากสถานประกอบกิจการใดมีสารกัมมันตรังสีไว้ในครอบครอง ต้องมีการขึ้นทะเบียน และแจ้งข้อมูลการอนุญาตหรือการครอบครองให้ครบถ้วน พร้อมทั้งต้องมีมาตรการในการตรวจสอบสารกัมมันตภาพรังสีอย่างสม่ำเสมอ   เพื่อป้องกันปัญหาการสูญหาย

     • การประเมินความเสี่ยงการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารกัมมันตภาพรังสี ต้องให้ความสำคัญ โดยยกระดับให้เป็นความเสี่ยงสูงสุด

     • สถานประกอบกิจการควรมีการจัดทำแผนฉุกเฉินกรณีสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล และดำเนินการฝึกซ้อมเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

     • กรณีมีการถอดอุปกรณ์ที่มีสารกัมมันตภาพรังสีออกจากระบบ ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือผู้ได้รับมอบหมาย เข้าร่วมดำเนินการเพื่อป้องกันการรั่วไหลของรังสี และนำไปจัดเก็บอย่างถูกต้องตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการต้องเตรียมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับความเสี่ยง และมีการฝึกซ้อมการสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างสม่ำเสมอ

        • สถานประกอบกิจการ ควรจัดทำขั้นตอนการสื่อสารเชิงรุกในภาวะวิกฤติกับชุมชนบริเวณโดยรอบ

        • สถานประกอบกิจการ ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง “กำหนดมาตรฐานการทำงานเกี่ยวกับรังสี พ.ศ. 2564” และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

     • สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

     • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

     • กฎกระทรวง “กำหนดมาตรฐานการทำงานเกี่ยวกับรังสี พ.ศ. 2564” กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

     • สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย

เข้าชม 2209 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันศุกร์, 21 เมษายน 2566 14:44