This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 20 ตุลาคม 2565 14:30

Machine Guarding สิ่งสำคัญ...เมื่อติดตั้งเครื่องจักร

       “เครื่องจักร” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวงการอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการต่าง ๆ เช่น การผลิต เป็นต้น หากเครื่องจักรสามารถทำงานได้เองตลอดเวลาก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แต่เมื่อใดก็ตามที่เครื่องจักรต้องเกี่ยวข้องกับคน สิ่งที่นายจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานจะต้องคำนึงตามมาก็คงหนีไม่พ้น การเกิดอันตรายหรือการบาดเจ็บอันเนื่องมาจากการทำงานกับเครื่องจักร นั่นเอง

      จากรายงานสถานการณ์การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ปี 2559-2563 ของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะพบว่า เครื่องจักรเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากวัตถุหรือสิ่งของ และเครื่องมือ ตามลำดับ โดยในปี 2563 มีผู้ประสบอุบัติเหตุจากเครื่องจักร ถึง 10,860 ราย

      ส่วนของเครื่องจักร (Point of Operation) ที่มีการเคลื่อนไหวมักก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานอย่างรุนแรง เช่น การถูกกระแทก มือและนิ้วมือถูกหนีบ แขนขาถูกตัดขาด เป็นต้น การติดตั้งเครื่องป้องกันอันตรายของเครื่องจักร (Safeguards) จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้น เพื่อปกป้องผู้ปฏิบัติงานจากการสัมผัสหรือล่วงล้ำเข้าไปในบริเวณที่อันตราย

      นอกจากนี้เครื่องป้องกันอันตรายดังกล่าวต้องมีความแข็งแรง ปลอดภัย ไม่เป็นอุปสรรคหรือกีดขวางการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน และต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายอื่นแก่ผู้ปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน เครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรมีหลายประเภทให้เลือกใช้ การเลือกเครื่องป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติ โดยทั่วไปเครื่องป้องกันเครื่องจักร สามารถแบ่งได้เป็น 4 แบบ ดังนี้

  1. เครื่องป้องกันแบบติดอยู่กับที่ (Fixed Guard)  

      เป็นเครื่องป้องกันเครื่องจักรแบบติดอยู่อย่างถาวร ซึ่งจะต้องมีการติดยึดเข้ากับตัวเครื่องจักรหรือพื้นของสถานที่ทำงานอย่างแน่นหนามั่นคง ส่วนใหญ๋มักทำด้วยโลหะ พลาสติกใส หรือตาข่ายลวด และต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการถอดออก เพื่อบำรุงรักษาหรือซ่อมแซม

  2.  เครื่องป้องกันแบบปรับได้ (Adjustable Guard)  

      เป็นเครื่องป้องกันอันตราย ที่สามารถปรับให้ยืดหยุ่นสอดคล้องกับขนาดและรูปร่างของวัสดุหรือชิ้นงานที่ถูกป้อนเข้าไปในเครื่องจักรได้

  3. เครื่องป้องกันแบบปรับได้เอง (Self-adjusting Guard)  

      เป็นเครื่องป้องกันอันตรายที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับชิ้นงาน โดยอาศัยการเคลื่อนที่ของชิ้นงาน เมื่อผู้ปฏิบัติงานป้อนชิ้นงานเข้าไปบริเวณที่เป็นอันตรายของเครื่องจักร เครื่องป้องกันจะถูกผลักออกเพื่อเปิดช่องให้มีขนาดเพียงพอกับชิ้นงาน หลังจากที่ชิ้นงานถูกดึงออกจากเครื่องจักร เครื่องป้องกันจะปรับกลับสู่ตำแหน่งเดิม

   4. เครื่องป้องกันแบบอินเตอร์ล็อค (Interlocked Guard)  

      เป็นเครื่องป้องกันที่อาศัยหลักการว่าจะหยุดหรือตัดพลังงานของเครื่องจักรทันที หากเครื่องป้องกันถูกเปิด หรือมีสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในบริเวณที่เป็นอันตรายของเครื่องจักร ในขณะที่เครื่องจักรกำลังทำงานอยู่ จนกว่าเครื่องป้องกันจะกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมจึงจะสามารถทำงานต่อไปได้

       ถึงแม้ว่าจะมีการติดตั้งเครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรแล้ว แต่การบำรุงรักษาให้เครื่องป้องกันนั้น อยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะหากเมื่อใดที่เครื่องป้องกันเกิดความชำรุดเสียหาย นอกจากการลงทุนนั้นจะไม่บรรลุผลตามที่ต้องการแล้ว ผู้ปฏิบัติงานเองก็มีโอกาสที่จะเกิดอันตรายและการบาดเจ็บอันเนื่องมาจากการทำงานกับเครื่องจักรได้อีกอย่างแน่นอน

 

เอกสารอ้างอิง

OSHA. (2007). Safeguarding Equipment and Protecting Employees from Amputations.
เข้าถึงได้จาก https://www.osha.gov/sites/default/files/publications/osha3170.pdf

สำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน. รายงานสถานการณ์การประสบอันตราย
หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ปี 2559-2563. เข้าถึงได้จากhttps://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/5ebe42693bf27ca624d2a14a89f99223.pdf

ศิริพร วันฟั่น. (2556). อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร (Machine Guarding). เข้าถึงได้จาก  http://www.thailandindustry.com/indust_newweb/articles_preview.php?cid=19193

 

เข้าชม 5476 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 08 ธันวาคม 2565 15:43