This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันศุกร์, 23 กันยายน 2565 09:36

เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ ‘ฟาดเคราะห์’ หรือ ‘สัญญานเตือน’

   เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ กับ ฟาดเคราะห์   

      “ไม่เป็นไรนะ ถือว่าฟาดเคราะห์” เป็นคำพูดเชิงบวกที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจในการปลอบโยนผู้อื่นในสังคมไทย ที่เรามักได้ยินมานาน สื่อความหมายว่าหากมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ เราจะไม่พบเหตุการณ์ไม่ดีใหญ่ๆ ตามมา หรือเป็นการยอมเสียสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเพื่อให้หมดเคราะห์

      เมื่อกลับมานึกถึงทฤษฎีการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน อาจเทียบเคียงได้กับเหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ หรือที่มักเรียกว่า Near miss(es) ซึ่ง National Safety Council (NSC) ในสหรัฐอเมริกา ได้ให้นิยามไว้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ไม่ทำให้เกิดความสูญเสีย การบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วย แต่มีศักยภาพแฝงที่จะทำให้เกิดความสูญเสียได้ในอนาคต หรือเกือบจะเกิดความสูญเสียแล้วนั่นเอง ตัวอย่างเหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ เช่น

  • น้ำหกอยู่บนทางเดินในไลน์การผลิต คนงานเดินผ่าน เหยียบน้ำเกือบลื่นหกล้ม

  • คนงานตกลงจากบันไดที่ชำรุด แต่ไม่เกิดการบาดเจ็บ

  • สิ่งของตกลงมาจากนั่งร้านในไซด์ก่อสร้าง แต่ไม่โดนศรีษะใครได้รับบาดเจ็บ

  • พนักงานขับรถเผลอหลับในตกไหล่ทาง แต่รถและสินค้าไม่เสียหาย และตนเองไม่ได้รับบาดเจ็บ

   เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุสำคัญไฉน   

      ในปี 1931 Herbert William Heinrich ได้เขียนลงในหนังสือ “Industrial Accident Prevention, A Scientific Approach” ถึงข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุว่า ทุกๆ เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ 300 ครั้ง จะมีอุบัติเหตุเล็กน้อยเกิดขึ้น 29 ครั้ง และจะมีอุบัติเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1 ครั้ง นั่นหมายความว่าเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จะสามารถนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงขึ้นได้ หากไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอ แนวคิดของตัวเลขที่เสนอนี้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการบริหารจัดการอุบัติการณ์ในสถานประกอบการ และเปลี่ยนมุมมองในการรับรู้ต่อเหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุจากเดิม และความสัมพันธ์ต่อการเกิดอุบัติเหตุในอนาคตมาจนถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านมากกว่า 80 ปีแล้วก็ตาม และข้อมูลนี้ถูกยืนยันว่าสอดคล้องกับสถิติอุบัติเหตุในการศึกษาอีกหลายงานที่ตามมา

      เช่นนั้นแล้วการเกิดขึ้นของเหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ หรือ Near miss จึงคงไม่ใช่การฟาดเคราะห์ ดังที่เรามักรับรู้กันมา แต่ในทางกลับกันหากเรามองในเชิงป้องกันนี่คือ “สัญญานเตือน” ว่าเมื่อมีเหตุการณ์เล็กๆ เกิดขึ้นแล้ว ให้ระมัดระวังว่าเหตุการณ์ใหญ่ๆ จะเกิดขึ้นตามมาได้

   แนวทางจัดการเหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุในสถานประกอบการ   

  • จัดให้มีระบบการรายงาน บันทึก วิเคราะห์และสอบสวนอุบัติเหตุ ไปจนถึงเหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ Occupational Safety and Health Administration (OSHA) สนับสนุนให้สถานประกอบการมีระบบการสอบสวนอุบัติการณ์ดังกล่าว เพื่อที่จะทราบสาเหตุที่แท้จริง สามารถวิเคราะห์แนวโน้ม และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่จะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

  • สถานประกอบการต้องมีการจัดการต่อเหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุอย่างทันท่วงที มีมาตรการป้องกันที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นอุบัติเหตุได้

  • ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานที่อยู่หน้างานในการค้นหาอันตราย ให้หมั่นตรวจประเมินสภาพการและการกระทำที่ไม่ปลอดภัยในสถานที่ทำงาน ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานรายการการเกิดเหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุต่อผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อกล่าวโทษ หรือหาตัวผู้ทำผิด แต่เพื่อการป้องกันเชิงระบบที่ทุกฝ่ายมีส่วนต้องร่วมมือกัน

          เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ เปรียบเหมือนสัญญานเตือน ที่นั่งไทม์แมชชีนมาบอกเราล่วงหน้าว่า หากจัดการเหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุได้ เราไม่เพียงแต่ฟาดเคราะห์ แต่เราสามารถป้องกันอุบัติเหตุใหญ่ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตได้เลยทีเดียว

เอกสารอ้างอิง

Etraininingtoday. (2019). Near Miss vs. an Accident. Retrieved 5 June 2020 from  https://etraintoday.com/blog/near-miss-vs-an-accident/#disqus_thread.

National Safety Council. (2013). Near Miss Reporting Systems. Retrieved 5 June 2020 from https://www.nsc.org/Portals/0/Documents/WorkplaceTrainingDocuments/Near-Miss-Reporting-Systems.pdf

บทความโดย : จันจิรา มหาบุญ

 

เข้าชม 14313 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันศุกร์, 23 กันยายน 2565 10:09