This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 11 กรกฎาคม 2565 11:33

หยุดการสูญเสีย...ด้วย Safety First

       เมื่อมีการประสบอันตรายจากการทำงาน (การเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และ/หรือ การเจ็บป่วยหรือโรคจากการทำงาน) เกิดขึ้น เกิดความสูญเสียกับคน (คนงานได้รับการบาดเจ็บ เจ็บป่วย พิการ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต) และเกิดความเสียหายกับทรัพย์สิน กระบวนการผลิต รวมถึงการสูญเสียอื่นๆ (เงิน, เวลา, ชื่อเสียง, ภาพลักษณ์ ฯลฯ) ต่อสถานประกอบการ

       หน้าที่ของทุกคน ทุกระดับที่อยู่ในสถานประกอบการ สามารถร่วมกันทำเรื่องความปลอดภัยได้โดยเริ่มต้นที่แต่ละคนคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรกเสมอ นั่นคือ “ปลอดภัยไว้ก่อน” หรือ 'Safety First' และเต็มที่กับทุกบทบาทหน้าที่ที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในงานด้านความปลอดภัยฯ เพื่อช่วยกันป้องกัน ควบคุมอุบัติเหตุและความสูญเสียก่อนการเกิดเหตุ ทั้ง 10 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

 

  1. นโยบายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยขององค์กร  

การกำหนดนโยบายความปลอดภัยฯ ตาม ISO 45001: 2018 ผู้บริหารสูงสุดต้องจัดทำ นำไปปฏิบัติและรักษาไว้ซึ่งนโยบายฯ โดย

ก) มุ่งมั่นจัดเตรียมสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพื่อป้องกันงานที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเจ็บป่วยต่อสุขภาพและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ขนาด บริบทองค์กรและลักษณะเฉพาะของความเสี่ยงด้านความปลอดภัยฯและโอกาสด้านความปลอดภัยฯ

ข) ให้กรอบสำหรับกำหนดวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยฯ
มุ่งมั่นปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ
ง) มุ่งมั่นกำจัดอันตรายและลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยฯ
จ) มุ่งมั่นปรับปรุงด้านความปลอดภัยฯอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น : ผู้บริหารสูงสุดและพนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายฯ

  1. นโยบายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยขององค์กร  

 

  2. การฝึกอบรมให้ความรู้  

ฝึกอบรมตามบทบาทหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด, การฝึกอบรมตามลักษณะงานที่มีความเสี่ยงขององค์กร และการฝึกอบรมอื่นๆ

ตัวอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น : ผู้บริหาร,พนักงานทุกระดับ,ผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ (ผู้รับเหมา, ผู้รับจ้างช่วง)

  3. การวางแผนการตรวจตราความปลอดภัย  

ดำเนินการด้วยวงจร PDCA (Plan-Do-Check-Action) ตรวจตราตามแผนอย่างสม่ำเสมอและนำข้อบกพร่องที่พบจากการตรวจมาปรับปรุงแก้ไข

ตัวอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น : ผู้ที่รับผิดชอบในการตรวจ

  4. การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยและการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน  

ชี้บ่งอันตรายโดยค้นหาแหล่งอันตรายในสถานที่ทำงานโดยวิธีการต่างๆ แล้วประเมินความเสี่ยงต่ออันตราย จัดลำดับความสำคัญ และกำหนดวิธีการควบคุมความเสี่ยง โดยจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน กำหนดขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย

ตัวอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น : จป.หัวหน้างาน, จป.เทคนิค, จป.เทคนิคขั้นสูง, จป.วิชาชีพ

  5. การสังเกตการณ์ปฏิบัติงาน  

ติดตามการทำงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงานที่กำหนด , ค้นหาและกำจัดพฤติกรรมเสี่ยงของพนักงาน

ตัวอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น : คปอ., จป.หัวหน้างาน, จป.วิชาชีพ, พนักงานที่ทราบวิธีการสังเกตการณ์ความปลอดภัย

  6. การควบคุมด้านสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน  

วิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการทำงาน (หาปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ กำหนดมาตรการ วิธีป้องกันและควบคุมสิ่งแวดล้อม) ตรวจสุขภาพ เฝ้าระวังสุขภาพ

ตัวอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น : จป.วิชาชีพ, หน่วยงานตรวจวัด, หน่วยบริการสุขภาพ, ฝ่ายบุคคล

  7. การป้องกันและควบคุมอันตรายหรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการทำงาน  

ดำเนินการตามลำดับของมาตรการควบคุมอันตรายหรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการทำงาน

  1. กำจัดอันตราย

  2. ทดแทนด้วยสิ่งที่มีอันตรายน้อยกว่า

  3. การควบคุมทางวิศวกรรม

  4. การควบคุมเชิงบริหารจัดการ

  5. การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

ตัวอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น : จป.วิชาชีพ,ฝ่ายวิศวกรรม, พนักงานแจ้งข้อบกพร่องของสภาพการทำงานหรือการชำรุดเสียหายของอาคาร สถานที่เครื่องมือ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง

  8. การสื่อสาร  

การสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น นโยบายด้านความปลอดภัยฯ, คู่มือ, กฎระเบียบ ข้อบังคับ, มาตรการ, วิธีการทำงาน เป็นต้น ผ่านช่องทางต่างๆ ที่เหมาะสม

ตัวอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น : ผู้รับผิดชอบในการสื่อสาร

  9. การควบคุมการจัดซื้อ จัดจ้าง  

การจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับด้านความปลอดภัยฯ ต้องมีระบบ ขั้นตอน วิธีการในการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน

ตัวอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น : ผู้รับผิดชอบจัดซื้อ จัดจ้าง

  10. การส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในเวลาทำงานและนอกเวลาทำงาน  

กิจกรรมการส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในงานและการกระตุ้นให้มีจิตสำนึกความปลอดภัยนอกงาน (ในบ้าน, การจราจร, ท่องเที่ยว ฯลฯ) รูปแบบต่างๆ

ตัวอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น : ทุกคน ทุกระดับในสถานประกอบการ

  “Better safe than sorry”  ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่ามาเสียใจภายหลัง  

ผู้เขียน

คุณสุชาดา อวยจินดา (โค้ชออนซ์)

 

เข้าชม 12185 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 11 กรกฎาคม 2565 14:03