This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันอังคาร, 26 มีนาคม 2567 13:23

ภัยเงียบจากอุตสาหกรรมแร่ใยหิน อันตรายถึงชีวิต

หลายคนกำลังสนใจปัญหาสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 แต่จะมีใครรู้ไหมว่าอันตรายจาก “ฝุ่นใยหิน” มีความรุนแรงที่มากกว่า และแฝงมาในการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างคาดไม่ถึง

      “ฝุ่นใยหิน” มาจากสิ่งต่าง ๆ รอบกาย ที่มีส่วนผสมจากแร่ใยหินในการผลิต โดยอุตสาหกรรมที่มีการใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องทนความร้อน ท่อซีเมนต์ใยหิน และท่อน้ำประปา, ผลิตภัณฑ์พลาสติก กระเบื้องปูพื้นไวนิล, พลาสติกขึ้นรูปต่าง ๆ และกล่องพลาสติกบรรจุแบตเตอรี่, กระดาษแร่ใยหิน และผลิตภัณฑ์เส้นใยอัดแน่น, ผ้าเบรค คลัทช์ สิ่งทอที่ทำด้วยแร่ใยหิน เช่น ชุดป้องกันไฟ, ฉนวนกันความร้อน เช่น ท่อน้ำร้อน หม้อไอน้ำ และฉนวนหุ้มคานเหล็ก ในอาคารสูง เพื่อป้องกันการขยายตัวของเหล็ก ในกรณีเกิดเพลิงไหม้, ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น สารยึดในยางมะตอย วัตถุดิบในการทำหินเจียร และปะเก็น

 

  เราสัมผัสแร่ใยหินได้อย่างไร  

     โดยส่วนใหญ่ผู้คนมักได้รับสัมผัสแร่ใยหินจากการสูดดมที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศเข้าไปโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังอาจจะได้รับสารปนเปื้อนจากการสลายตัวของใยหินตามธรรมชาติ แหล่งทิ้งขยะใยหิน หรือท่อซีเมนต์ใยหินที่มีการเสื่อมสภาพ และที่น่ากังวลที่สุดก็คือ บุคคลที่ต้องทำงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เช่น คนงานเหมืองแร่ใยหิน คนงานโรงงานผลิตใยหิน คนงานอุตสาหกรรมที่ใช้ใยหินเป็นวัตถุดิบ คนงานก่อสร้างที่ต้องตัดเจียรกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น หรือรื้อถอนอาคารที่มีวัสดุที่มีใยหินเป็นส่วนประกอบ คนงานอุตสาหกรรมรถยนต์ ช่างยนต์ในขณะเปลี่ยนผ้าเบรคหรือคลัทช์ คนงานที่ทำหน้าที่จัดการขยะที่มีใยหินเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น ที่สำคัญบุคคลเหล่านี้สามารถนำสารปนเปื้อนของแร่ใยหินกลับมาสู่ครอบครัวและบุคคลในบ้านได้อีกด้วย

 

  ภัยมืดจากแร่ใยหิน  

     หากบอกว่าการสัมผัสแร่ใยหิน มีผลทำให้ผู้สัมผัสในระยะเวลานาน ๆ อาจกลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดได้ คงทำให้หลาย ๆ คนเริ่มเกิดความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดจากแร่ใยหิน

 

     “ใยหินทุกประเภทเป็นสารก่อมะเร็งในคน” นี่คือ ข้อสรุปของสถาบันวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (The International Agency for Research on Cancer, IARC) จากการศึกษาทบทวนงานวิจัยของนักวิชาการจากทั่วโลก ทั้งการศึกษาทางระบาดวิทยาในคน และการศึกษาในสัตว์ทดลองสถาบันวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติจัดแร่ใยหินทุกกลุ่มย่อยเป็นสารก่อมะเร็ง เพื่อสรุปว่าใยหินทุกประเภทเป็นสารก่อมะเร็งในคน รวมถึงใยหินไครโซไทล์ที่ยังมีการใช้ในประเทศไทยในขณะนี้ด้วย

 

     แร่ใยหินก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพหลากหลาย ได้แก่ โรคปอดอักเสบจากใยหินหรือแอสเบสโตซิส (asbestosis) โรคหรือความผิดปกติของเยื่อหุ้มปอด (pleural thickening, pleural plague) โรคมะเร็งปอด (lung cancer) และโรคมะเร็งของเยื่อหุ้มปอด (mesothelioma) เป็นจุดหรือก้อนในปอด และโรคมะเร็งกล่องเสียง

 

     จากการศึกษาดังกล่าวพบว่าคนงานกลุ่มที่ทำงานสัมผัสใยหินไครโซไทล์ดังกล่าวเกิด/เสียชีวิตจากมะเร็งประเภทต่าง ๆ รวมถึง มะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมากกว่าคนทั่วไป ข้อมูลดังกล่าวทำให้สถาบันวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติสรุปว่าใยหินทุกประเภทเป็นสารก่อมะเร็งในคนในปี พ.ศ. 2555

 

     จะเห็นได้ว่าฝุ่นใยหินวนเวียนอยู่ใกล้ตัวเราจนบางครั้งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสกับแร่ใยหินโดยตรง ยิ่งเสี่ยงอันตรายมากที่สุด ดังนั้นจึงควรเร่งดำเนินการให้ยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบทุกชนิด โดยไม่ต้องรอให้เกิดการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากใยหินเพิ่มขึ้นมาอีก และนี่คือเหตุผลที่ทำไมทุกคนต้องหันมาป้องกันและรณรงค์ให้เกิดการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

 

ข้อมูลอ้างอิง 

• บทความ ใยหินไครโซไทล์กับสุขภาพ, แร่ใยหินกับสุขภาพ โดย ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

• บทความ โรคปอดเหตุใยหิน โดย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

 

เข้าชม 474 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันอังคาร, 26 มีนาคม 2567 13:48