This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 14 ธันวาคม 2566 10:28

MDC ค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย : สู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน (EP.3)

          ต่อจาก Ep.1 และ Ep.2 เรามาพิจารณาใช้ค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัยอีก 2 ค่านิยม ได้แก่ ค่านิยม D C (Discipline วินัยถูกต้อง และ Caring เอื้ออาทรใส่ใจ) ในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ยั่งยืนต่อไป

 

ค่านิยม D : Discipline วินัยถูกต้อง

ทำไมต้องมีค่านิยม D วินัยถูกต้อง

          วินัย คือ ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ ข้อบัญญัติที่วางไว้สำหรับกำกับความประพฤติให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

          สังคมจะเกิดความสันติสุขและสันติได้ สังคมนั้น ๆ ต้องมีกฎกติกา ระเบียบแบบแผนที่ดีและเหมาะสม รวมทั้งผู้อยู่ในสังคมนั้นให้ความร่วมมือในการรักษากฎกติกา ระเบียบแบบแผนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

          ความปลอดภัยในการทำงานก็เช่นกัน กระบวนการทำงานนั้นจะต้องผ่านการวิเคราะห์ ชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง แล้วนำมากำหนดเป็นมาตรการ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ขั้นตอนการทำงานที่เหมาะสมและปลอดภัย และที่สำคัญจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานต่าง ๆ  รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานต้องมีค่านิยม D วินัยถูกต้อง คือ มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ขั้นตอนการทำงาน และคู่มือความปลอดภัยที่กำหนดไว้และถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด         ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานควรได้มีส่วนร่วมในการกำหนด กฎระเบียบ ข้อบังคับดังกล่าว และได้รับการอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจและฝึกปฏิบัติจนสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง สามารถควบคุม/ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ รวมทั้งกฎ ระเบียบและมาตรการเหล่านั้นควรมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

          สถานประกอบกิจการที่มีผู้ปฏิบัติงานที่รู้และเข้าใจนโยบาย แผนงาน คู่มือและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยในการทำงานเป็นอย่างดี มีวินัยในการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อการปฏิบัติงาน และมีวินัยในการปฏิบัติงานตามขั้นตอนการทำงานที่ถูกต้องและปลอดภัย จะส่งผลให้กระบวนการการทำงานนั้นมีความปลอดภัย การทำงานราบรื่น มีผลผลิตที่ดีมีคุณภาพอีกด้วย

 

  ปัจจัยต่อการสร้างค่านิยม D วินัยถูกต้อง  

          ปัจจัยในการสร้างค่านิยมวินัยถูกต้อง สถานประกอบกิจการต้องกำหนดกฎ ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับ และขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานที่มีความเหมะสมกับประเภทกิจการและสถานประกอบกิจการนั้น ๆ โดยกฎ ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับ และขั้นตอนการปฏิบัติงานเหล่านั้นควรจัดทำขึ้นจากความคิดความร่วมมือของบุคลากรทุกระดับขององค์กร เช่น ผู้แทนผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้างาน และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน โดยการพิจารณางานในทุกมิติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในเชิงปฏิบัติ 

          ระเบียบและขั้นตอนการทำงานที่ดีนั้น ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความคล่องตัวในการปฏิบัติตามและไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป จนอาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดการทำงานลัดขั้นตอน และทำงานข้ามขั้นตอนจนก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้  ซึ่งพบเสมอว่าอุบัติเหตุจากการทำงานเกิดจากผู้ปฏิบัติงานทำงานลัดขั้นตอน ข้ามขั้นตอนการทำงาน และฝ่าฝืนกฎระเบียบหรือข้อกำหนดต่างๆ ดังนั้น ควรมีการทบทวนกฎระเบียบ ข้อบังคับและขั้นตอนการทำงานเป็นระยะ ๆ เพื่อการปรับเปลี่ยนให้มีความถูกต้องเหมาะสม และเกิดความปลอดภัย รวมทั้งกฏ ระเบียบและขั้นตอนการทำงานนั้นต้องสอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณานำกฎหมายและข้อกำหนดดังกล่าวมากำหนดเป็นแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยในการทำงานด้วย เช่น การจัดให้มีระบบขออนุญาตการทำงานในที่ที่มีความเสี่ยง การจัดให้มีระบบตรวจสอบและทดสอบความพร้อมของเครื่องจักรก่อนทำงาน และการจัดให้มีระบบหยุดหรือตัดพลังงานกรณีมีการซ่อมแซมหรือปรับแต่งเครื่องจักร เป็นต้น

  เริ่มต้นดำเนินการอย่างไร  

          การสร้างค่านิยม D วินัยถูกต้อง ควรเริ่มที่ผู้บริหารหรือนายจ้างควรให้ความสำคัญกับค่านิยมนี้ โดยจัดให้มีการประกาศหรือชี้แจงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ขั้นตอนการทำงาน และความรู้เกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ และเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายดังกล่าว ตลอดจนจัดให้มีระบบการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติตามค่านิยมนี้ ซึ่งอาจมีการตรวจสอบทุกวัน ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนตามความเหมาะสม

           และผู้ปฏิบัติงานทุกคน ทุกระดับพร้อมและมีวินัยในตนเองที่จะรักษาระเบียบ วินัย ข้อบังคับและปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และขั้นตอนการทำงานตลอดเวลาที่มีการทำงาน ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมงาน

          สถานประกอบกิจการที่มีผู้ปฏิบัติงานที่มีค่านิยมวินัยถูกต้อง และสนใจในการศึกษาและวิเคราะห์สมรรถนะในการทำงาน เช่น กระบวนการผลิต เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือ เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งมีวินัยในการปฏิบัติงานตามคู่มือการทำงานของเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ แล้วผลผลิตที่ได้ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีสมบูรณ์ภายใต้กระบวนการทำงานที่ปลอดภัย

ค่านิยม C : Caring เอื้ออาทรใส่ใจ

ทำไมต้องมีค่านิยม C เอื้ออาทรใส่ใจ

เอื้ออาทร คือ ความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเมตตาเอาใจใส่ช่วยเหลือ

ความมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงานที่ทำงานด้วยกัน การใส่ใจดูแลเพื่อนร่วมงาน ความเมตตาช่วยเหลือกันและกันในการทำงาน เช่น ร่วมกันสอดส่องดูแลสถานที่ทำงานให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีปลอดจากสาเหตุที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ การให้คำแนะนำต่อเพื่อนร่วมงานเมื่อเห็นเพื่อนร่วมงานปฏิบัติไม่ถูกต้องตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง การมีความเมตตาช่วยเหลือเพื่อนเมื่อเพื่อนต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งการสร้างมุมมองด้านความปลอดภัยในหลายๆ มิติ จะทำให้สถานประกอบกิจการนั้นก็จะมีความน่าอยู่ ลดความขัดแย้ง มีบรรยากาศการทำงานที่ดี มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและปลอดภัย

 

  ปัจจัยในการสร้างค่านิยม C เอื้ออาทรใส่ใจ  

          ปัจจัยที่จะทำให้ค่านิยม C เอื้ออาทรใส่ใจเกิดขึ้น คือ บุคลากรทุกระดับในองค์กรการมีส่วนร่วมในการสร้างการรับรู้ด้านความปลอดภัย และจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านความปลอดภัยต่าง ๆ โดยผู้บริหารต้องมีการแสดงความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการเป็นผู้นำในการสร้างค่านิยมนี้ ทั้งในด้านการปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างและเข้าร่วมทำกิจกรรมที่จัดขึ้นในสถานประกอบกิจการ เช่น เปิดเวทีให้ทุกคนในองค์กรได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยในการทำงาน การสนับสนุนให้มีกิจกรรมที่เกิดการเอื้ออาทรใส่ใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกันและยอมรับซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับต้องมีส่วนร่วมในการเสนอแนะ ให้คำแนะนำ เชิงสร้างสรรค์ กิจกรรมเหล่านั้นอาจทำในรูปแบบการทำงานเป็นทีมเพื่อสร้างค่านิยมเอื้ออาทร 

          การจัดการเกี่ยวกับค่านิยมนี้ นอกจากจะมีการจัดการภายในสถานประกอบกิจการแล้ว อาจต้องมองไปถึงความเอื้ออาทร ช่วยเหลือชุมชนรอบสถานประกอบกิจการ  บริษัทลูกค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานประกอบกิจการด้วย 

 

  เริ่มต้นดำเนินการอย่างไร  

          ควรเริ่มดำเนินการโดยกำหนดแนวทางให้บุคลากรทุกระดับมีส่วนร่วมในการกำหนดระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการผ่านกิจกรรมในหลายรูปแบบ เช่น กิจกรรมการสังเกตการปฏิบัติงาน การโค้ชชิ่ง (Coaching) ให้คำปรึกษาต่าง ๆ  การเปิดช่องทางให้มีการร่วมแสดงความคิดเห็น/เสนอแนะ โดยร่วมกำหนดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติด้านความปลอดภัยในการทำงาน เช่น การบ่งชี้อันตรายและประเมินความเสี่ยงในกระบวนการทำงาน  การรายงานและสอบสวนอุบัติเหตุและเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ผลตรวจสอบ และการปรับปรุงแก้ไขประเด็นความปลอดภัยภายในสถานประกอบกิจการ รวมทั้งการสื่อสารแลกเปลี่ยนสาระความรู้ที่ดีหรือเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน 

          การจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ในลักษณะการทำงานเป็นทีมเป็นประจำและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการรับรู้ด้านความปลอดภัย การช่วยเหลือกันและกันในการทำงาน การสอดส่องดูแลความปลอดภัยในการทำงาน เช่น จัดกิจกรรมรณรงค์ในหน่วยงานย่อยเดือนละครั้ง จัดกิจกรรมรณรงค์ในระดับฝ่าย/แผนกไตรมาสละครั้ง และจัดกิจกรรมรณรงค์ในภาพรวมทั้งสถานประกอบกิจการปีละครั้งเป็นต้น รวมทั้งจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานภายนอกในรูปแบบความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยเช่นกัน

          ท้ายนี้ ค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย M D C นอกจากเสริมสร้างความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันได้ และการใช้ชีวิตร่วมกันภายในครอบครัวและสังคมรอบข้าง เช่น การขับรถยนต์ที่เราจะต้องเตรียมความพร้อมทางร่างกายโดยไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนและขณะขับรถ  การขับรถที่ต้องมีสติรู้ตัวตลอดเวลาขณะขับ การไม่คิดเรื่องอื่นจนลืมตนขณะขับรถ การขับรถตามกฎระเบียบและข้อกำหนดทางการจราจร การใส่ใจต่อผู้ร่วมทางและผู้ร่วมใช้ถนน รวมถึงมีน้ำใจและเอื้ออาทรต่อกัน เช่น การหยุดจอดให้ผู้ใช้ทางเท้าข้ามถนน ไม่ขับแซงในระยะกระชั้นชิด เป็นต้น

 

เข้าชม 1167 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 14 ธันวาคม 2566 10:42