การคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง และมีความปลอดภัยในการทำงาน ตามบทบาทหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน จำเป็นต้องดำเนินการทางด้านการควบคุมกำกับดูแลให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ อย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการส่งเสริมพัฒนาเพื่อสร้างความตระหนักรู้และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ให้มั่นใจได้ว่าผู้ใช้แรงงานจะได้ทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม ปลอดจากอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน

      สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยอำนาจหน้าที่หนึ่งของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ คือ การพัฒนาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มาตรฐานที่จัดทำขึ้นนั้นได้ผ่านกระบวนการจัดทำมาตรฐานของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทางาน (องค์การมหาชน) ดำเนินการร่างและกลั่นกรองโดยคณะอนุกรรมการวิชาการ ผ่านการระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ  เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยจากอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยและโรคจากการทำงาน 

มาตรฐานการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Occupational Safety and Health Risk Assessment Standard) มาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทางาน (Occupational Safety and Health Management System Standard) มาตรฐานการยกและเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกายตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics Standard on Manual Materials Handling)

 

มาตรฐานการปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics Standard on Working with Computer) มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง (Safety Management on Working at Height Standard)

 

มาตรฐานการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (มปอ. 402 : 2561)

      เพื่อให้มีข้อกำหนดขั้นต่ำและวิธีการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ อีกทั้งยังเป็นแนวทางให้บุคลากรด้านความปลอดภัยในการทำงาน ใช้เป็นมาตรฐานในการดำเนินการชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยงเพื่อนำไปสู่การจัดการเพื่อการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีประสิทธิภาพต่อไป

 

มาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (มปอ.401: 2561)

      เพื่อให้สถานประกอบกิจการมีแนวทางในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2553 สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ จึงได้จัดทำมาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (มปอ. 401: 2561) ขึ้น อีกทั้งสถานประกอบกิจการหรือหน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการใช้บังคับก็สามารถนำมาตรฐานฉบับนี้ไปดำเนินการในการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานขององค์กรให้เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัยของคนทำงานทุกคนและสามารถพัฒนาศักยภาพองค์กรสู่มาตรฐานสากลได้ต่อไป

 

 

มาตรฐานการยกและเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกายตามหลักการยศาสตร์ (มปอ. 302 : 2561)

เป็นมาตรฐานที่สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับวัสดุที่จะต้องยกและเคลื่อนย้ายด้วยแรงกาย การออกแบบปรับปรุงสถานีงาน สภาพแวดล้อมของบริเวณที่ปฏิบัติงานและการบริหารจัดการ รวมถึงการดูแลพฤติกรรมของลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานยกและเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกาย ให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก อันเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงและมีจำนวนมากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

มาตรฐานการปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ตามหลักการยศาสตร์ (มปอ. 301 : 2561)

      เป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานและสถานประกอบกิจการดำเนินการปรับปรุงสภาพการทำงานในสำนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมแก่ลูกจ้างตามหลักการยศาสตร์ โดยมีเนื้อหาครอบคลุมปัจจัยสำคัญของการปรับปรุงงานคอมพิวเตอร์ ได้แก่ สถานีงานคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สภาพแวดล้อมในบริเวณสถานีงาน และการบริหารจัดการงานคอมพิวเตอร์ เมื่อดำเนินการปรับปรุงสภาพการทำงานตามข้อกำหนดในมาตรฐานนี้แล้ว เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานสามารถใช้แบบประเมินท่าทางในการปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ของลูกจ้าง และปรับปรุงให้สอดคล้องกับท่าทางการปฏิบัติงานที่แนะนำในมาตรฐาน นอกจากนี้มาตรฐานนี้ได้แนะนำท่าบริหารร่างกายที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติได้อย่างง่าย ๆ ในระหว่างวันทำงาน เพื่อผ่อนคลายอาการปวดเมื่อยที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อที่ใช้งานมากในขณะปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ และสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงเนื่องจากไม่ได้ใช้งาน

 

มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง (มปอ. 101 : 2561)

      เป็นมาตรฐานที่สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้บังคับกฎหมายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานบนที่สูง โดยมีสาระสำคัญบางส่วนที่ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติได้ตามกฎหมาย และบางส่วนที่เป็นมาตรฐานการทำงานบนที่สูงในลักษณะงานที่อาจมีอันตรายจากการปฏิบัติงานแม้ยังมิได้มีการบังคับใช้ตามกฎหมาย